การผ่าตัดแบบส่องกล้อง Laparoscopic Colectomy ทางเลือกการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เป็นโรคร้ายแรงที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของประชากรไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบได้เป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และพบได้เป็นอันดับ 5 ในผู้หญิง มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ โดยเกิดการแบ่งตัวและเพิ่มขนาดเยื่อบุผนังลำไส้เจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็วจนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็จะเกิดเนื้องอกขึ้นในลำไส้ แต่เนื้องอกนี้อาจจะเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้ แต่หากว่าเป็นเซลล์มะเร็ง สามารถลุกลามไปสู่กล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ในอวัยวะลำไส้ และมากกว่า 90% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ มักพบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี โดยมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่สามารถตรวจพบได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ปัจจัยสำคัญที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อายุที่มากขึ้น โดย 90% ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี
- มีก้อนเนื้อ (Polyp) ในลำไส้ใหญ่
- มีประวัติส่วนตัวเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)
- เคยส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ หรือใช้ตรวจติดตามหลังผ่าตัดมะเร็ง
- มีประวัติส่วนตัวเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม หรืออวัยวะอื่น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีประวัติบุคคลในครอบครัว บิดา มารดา พี่ น้อง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเป็นติ่งเนื้อ
- มีประวัติโรคทางกรรมพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว เช่น HNPCC หรือ Polyposis Syndromes
- ผู้สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- น้ำหนักเกิน BMI หรือโรคอ้วน
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มต้นโดยคนไข้อาจไม่มีอาการอะไรเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินของโรคไปได้สักระยะ มะเร็งลำไส้ใหญ่จะเริ่มมีอาการแสดง ดังนี้
- มีนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมีอาการเตือน เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ขนาดของลำ
อุจจาระเล็กลง คลำท้องพบก้อน เป็นต้น - มีอาการท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง หรือสลับกันเป็นครั้งคราว
- จำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม
- ลำของอุจจาระเล็กลงหรือบางลง
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน (อาจมีสีแดงสดหรือสีแดงคล้ำ) หรือตรวจอุจจาระพบเลือดแฝง โดยที่ตรวจแล้วไม่ใช่สาเหตุจากบริเวณทวารหนักและลำไส้ตรงส่วนล่าง
- ถ่ายเป็นมูกปนเลือด ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อบิด
- มีอาการจุกเสียด แน่นท้อง หรือปวดท้องบ่อยๆ
- มีอาการปวดหน่วง หรือรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด
- อ่อนเพลียเรื้อรัง น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการไส้บิดกลืนกัน หลังฉายรังสีแล้วถ่ายมีมูกปนเลือด
วิธีการตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มี 6 วิธี ดังนี้
- การตรวจทวารหนัก โดยแพทย์
- การตรวจเลือดในอุจจาระ
- การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ที่สวนสารทึบแสง
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT scan)
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy)
- การตรวจสายพันธุกรรม ในครอบครัวที่มีประวัติโรคทางกรรมพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่
ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
มะเร็งระยะที่ 1 |
เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม อัตราการหายขาดสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด |
มะเร็งระยะที่ 2 |
เป็นระยะที่เริ่มลุกลาม เซลล์มะเร็งจะเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และอาจลามไปถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ หรือ อวัยวะข้างเคียง |
มะเร็งระยะที่ 3 |
เป็นระยะที่เริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุด และทำเคมีบำบัดเพื่อไม่ให้มะเร็งฟื้นตัวและกลับมาลุกลาม |
มะเร็งระยะที่ 4 |
เป็นระยะที่ค่อนข้างรุนแรง มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ การรักษาต้องทำการผ่าตัดเพื่อตัดอวัยวะบางส่วนที่เป็นมะเร็งออก และทำเคมี บำบัดร่วมด้วย |
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ จะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง และการทำเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาโดยทีมแพทย์ในการวางแผนการรักษา ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทางเลือกการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง
- แผลมีขนาดเล็ก : แผลเป็นจะมีขนาดเล็กกว่าแผลผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
- อาการเจ็บน้อย : หลังจากการผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
- ฟื้นตัวเร็ว : เนื่องจากเนื้อเยื่อได้รับการบาดเจ็บน้อย แผลในการผ่าตัดมีขนาดเล็ก จึงทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
- ค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลไม่สูง : เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ อีกต่อไป
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่องกล้อง เป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนามาเพื่อดูแลผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพสูง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่
- เข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อนัดวันตรวจ และรับคำแนะนำ
- 3 วันก่อนตรวจ งดผักผลไม้ทุกชนิดและเนื้อสัตว์ อาหารที่รับประทานได้คืออาหารอ่อนย่อยง่าย ข้าวสวย ข้าวต้ม ไข่ ปลา เต้าหู้
- 1 วันก่อนตรวจ งดผักผลไม้ทุกชนิดและเนื้อสัตว์ ทานอาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุปใส งดรับประทานอาหารและน้ำที่มีสีดำ หรือแดง
- คืนก่อนรับการส่องกล้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาระบายตามคำสั่งแพทย์ โดยยาระบายจะช่วยกระตุ้นลำไส้และทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อย ควรดื่มน้ำหลังถ่ายอุจจาระ ทดแทนน้ำที่เสียไป
- งดน้ำ งดอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนรับการส่องกล้องผ่าตัด
- ก่อนตรวจแพทย์จะให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้ตรวจรู้สึกผ่อนคลายและทำให้ง่วงนอนหรือหลับ
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยารักษาโรคประจำตัวที่ทานอยู่ เพราะแพทย์อาจพิจารณาให้หยุดยาบางตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดลำไส้ใหญ่
หลังการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจต้องนอนโรงพยาบาลนาน 3 - 7 วัน และในระหว่างนี้ยังไม่สามารถกินอาหารที่เป็นชิ้นได้ ส่วนใหญ่แล้วต้องพักฟื้นประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ จึงกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
เคมีบำบัด
เคมีบำบัดนำมาใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือเป็นชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งซ้ำสูง ซึ่งมักจะต้องได้รับเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ และช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วย โดยเป็นการรักษาแบบหวังผลหายขาด หรือเป็นการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ ซึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อมุ่งหวังบรรเทาอาการ และเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยให้นานขึ้น
การฉายรังสี
การฉายรังสีมักนำมาใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นลำไส้ใหญ่ช่วงปลายสุดก่อนออกสู่ทวารหนัก โดยแพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาให้เป็นการรักษาเสริมก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด และนิยมให้ร่วมกับเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดีขึ้น และอาจช่วยลดการผ่าตัดที่ต้องมีทวารเทียมที่ผนังหน้าท้อง (Colostomy) แบบถาวรได้
การติดตามผลหลังการรักษา
สนับสนุนข้อมูลโดย : ศ.กิตติคุณ นพ.อรุณ โรจนสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745